มาตราตัวสะกด
ตัวสะกด
ตัวสะกด คือ พยัญชนะที่ประสมข้างหลังพยางค์ในแม่ ก กา ทำให้แม่ ก กา กลายเป็นมาตราแม่กง กม เกย เกอว กก กบ กน และแม่กด
มาตราตัวสะกด มี 8 มาตรา คือ
1. แม่กง ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ง
2. แม่กม ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ม
3. แม่เกย ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ย
4. แม่เกอว ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ว
5. แม่กก ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ก ข ค ฆ
6. แม่กบ ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย บ ป พ ฟ ภ
7. แม่กน ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย น ญ ณ ร ล ฬ
8. แม่กด ตัวอักษรที่เป็นตัวสะกด ประกอบด้วย ด จ ช ซ ฎ ฎ ฑ ฒ ต ถ ท ธ ศ ษ ส
ส่วนพยางค์หรือคำที่ไม่มีตัวสะกด เช่น ปลา พี่ โต๊ะ แก้ หู ฯลฯ เรียกว่า ก กา
ตัวสะกดแม่ ก กา
คำในแม่ ก กา เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ โดยไม่มีตัวสะกด เช่น
แค่ รอ มือ ยา บัว ปลา ใคร เสีย เตะ โบ ผ้า แคะ เลอะ เกาะ ใบ้ โซเซ เขี่ย ไชโย ช้ำ เช่า ซ้ำ ไฟฟ้า เหาะ ไม้ไผ่ ปูม้า เต้าหู้ ธุระ พิธี หารือ คาถา ท่าน้ำ เก้าอี้ ปีใหม่ สะใภ้
คำที่มีตัวสะกดในมาตราต่าง ๆ เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่างๆ และมีตัวสะกด
1. มาตราแม่กง เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ง เป็นตัวสะกด เช่น
กาง ลิง เรื่อง ยาง ซุง จูง ป้อง เสียง โรง ดัง ตรง โค้ง แพง เคียง จอง จ้าง เฉียง ด้วง เด้ง ตึง บ่วง ฟ้อง ย่าง แสง ห้อง เพลง ยุง สูง ปิงปอง คิงคอง ข้างเคียง ทองคำ คั่งค้าง เชิงเขา
2. มาตราแม่กม เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ม เป็นตัวสะกด เช่น
กุม จุ่ม ป้อม ริม ส้วม โหม กลม เสียม คีม เข็ม ต้ม อุ้ม สุม เต็ม เทอม เสริม แยม จาม โดม เกม ก้าม ข้าม โคม เชื่อม ซ้อม แถม ต่อม นุ่ม กระท่อม ทุ่มเท ประถม ซ่อมแซม ตุ้มหู ชมพู่
3. มาตราแม่เกย เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ย เป็นตัวสะกด เช่น
อ้อย กาย โดย สวย สาย คอย โรย คุ้ย รวย ชาย นาย เลย เชย ค่าย โกย เคย ช่วย เกย ดอย ทอย เดือย เตย เนย ถ่าย ป้าย ฝอย ย้อย ร้อย ระบาย สอยผ้า ลายมือ ใจร้าย ชมเชย ง่ายดาย
คำที่ประสมกับสระ เอีย เช่น เปีย เสีย ไม่ใช่คำที่อยู่ในมาตราแม่เกย
4. มาตราแม่เกอว เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ว เป็นตัวสะกด เช่น
เที่ยว ขาว คิ้ว กาว สาว แล้ว เร็ว เอว เลี้ยว เขียว ข่าว จิ๋ว เคี่ยว เกี๊ยว แก้ว เหว ดาว ริ้ว แมว เขี้ยว เคี้ยว มะนาว ซีอิ้ว แซว แวววาว พราว ว่าว แนว ไข่เจียว ก้าวหน้า เดี๋ยว ค้างคาว ชาวนา นิ้วเท้า
คำที่ประสมกับสระ อัว เช่น กลัว มัว ไม่ใช่คำที่อยู่ในมาตราแม่เกอว
5. มาตราแม่กก เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ก เป็นตัวสะกด เช่น
กาก ครก ผัก รู้สึก ปีก เลือก ลูก โลก รวก เผือก ยก ปุ๊ก กุ๊กกิ๊ก เรียก เปียก แตก หัก เด็ก บก พริก
นอกจากนี้คำที่ประสมสระต่าง ๆ และมี ข ค ฆ เป็นตัวสะกดและอ่านออกเสียงอย่าง ก สะกด ก็เป็นคำในมาตราแม่กกด้วย เช่น
สุข อ่านว่า สุก
เลข อ่านว่า เลก
สุนัข อ่านว่า สุ-นัก
โรค อ่านว่า โรก
พรรค อ่านว่า พัก
เมฆ อ่านว่า เมก
6. มาตราแม่กบ เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี บ เป็นตัวสะกด เช่น
สิบ คาบ รวบ กราบ ขับ ฉบับ สูบ ลูบ จีบ ละโมบ เพียบ ตุ้บ เคลือบ ครีบ ระนาบ ทึบ คืบ เล็บ แป๊บ
นอกจากนี้ คำที่ประสมสระต่าง ๆ และมี บ พ ฟ ภ เป็นตัวสะกด และอ่านออกเสียงอย่าง บ สะกด ก็เป็นคำในมาตราแม่กบ ด้วย เช่น
ซุป อ่านว่า ซุบ
สาป อ่านว่า สาบ
ทวีป อ่านว่า ทะ-วีบ
สรุป อ่านว่า สะ-หรุบ
สังเขป อ่านว่า สัง-เขบ
ประทีป อ่านว่า ประ-ทีบ
ทัพ อ่านว่า ทับ
ศพ อ่านว่า สบ
เทพ อ่านว่า เทบ
ทิพย์ อ่านว่า ทิบ
กาพย์ อ่านว่า กาบ
สรรพ อ่านว่า สับ
สุภาพ อ่านว่า สุ-พาบ
รูปภาพ อ่านว่า รูบ-พาบ
ลิฟต์ อ่านว่า ลิบ
ยีราฟ อ่านว่า ยี-ร้าบ
ลาภ อ่านว่า ลาบ
โลภ อ่านว่า โลบ
7. มาตราแม่กน เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี น เป็นตัวสะกด เช่น
สะพาน กิน เขียน หัน ประธาน แคน โขน ขุน ชัน เรือน เพื่อน หลาน ปีน นูน ขึ้น ปืน กวน
นอกจากนี้ คำที่ประสมกับสระต่าง ๆ และมี ญ ณ ร ล ฬ เป็นตัวสะกด และอ่านออกเสียงอย่าง น สะกด ก็เป็นคำในมาตราแม่กนด้วย เช่น
ขวัญ อ่านว่า ขวัน
ชำนาญ อ่านว่า ชำ-นาน
ปริญญา อ่านว่า ปะ-ริน-ยา
บริเวณ อ่านว่า บอ-ริ-เวน
โบราณ อ่านว่า โบ-ราน
ประมาณ อ่านว่า ประ-มาน
วานร อ่านว่า วา-นอน
อาหาร อ่านว่า อา-หาน
มโหฬาร อ่านว่า มะ-โห-ลาน
กมล อ่านว่า กะ-มน
พาล อ่านว่า พาน
บันดาล อ่านว่า บัน-ดาน
พระกาฬ อ่านว่า พระ-กาน
วาฬ อ่านว่า วาน
8. มาตราแม่กด เป็นคำที่มีพยัญชนะต้นประสมกับสระต่าง ๆ และมี ด เป็นตัวสะกด เช่น
กัด ขัด คาด ราด ชิด ปิด มีด อี๊ด อึด มืด สุด ดูด มด โสด เกด สลด ทอด วัด เป็ด อัด
นอกจากนี้คำที่ประสมสระต่าง ๆ และมี จ ช ซ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ต ถ ท ธ ศ ษ ส เป็นตัวสะกด และอ่านออกเสียงอย่าง ด สะกด ก็เป็นคำในมาตราแม่กด ด้วย เช่น
อำนาจ อ่านว่า อำ-นาด
ประโยชน์ อ่านว่า ประ-โหยด
ก๊าซ อ่านว่า ก๊าด
มงกุฎ อ่านว่า มง-กุด
ปรากฏ อ่านว่า ปรา-กด
ประเสริฐ อ่านว่า ประ-เสิด
ครุฑ อ่านว่า ครุด
วัฒนา อ่านว่า วัด-ทะ-นา
เมตตา อ่านว่า เมด-ตา
โอสถ อ่านว่า โอ-สด
ปราสาท อ่านว่า ปรา-สาด
อาวุธ อ่านว่า อา-วุด
พินาศ อ่านว่า พิ-นาด
วิเศษ อ่านว่า วิ-เสด
พิสมัย อ่านว่า พิด-สะ-ไหม